Course Content
ความสำคัญของพระพุทธศาสนากับสังคมไทย
พระพุทธศาสนานั้น เราถือกันว่าเป็นศาสนาประจำชาติ การถืออย่างนั้น เป็นประเพณีที่สืบต่อมาโดยถูกต้องตามสมควรแก่เหตุ คือ การที่พระพุทธศาสนากับชนชาติไทยได้มีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
0/3
ความสำคัญของพระพุทธศาสนากับสังคมไทย
About Lesson

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือ จึงอาจเกี่ยวข้องกับคนไทย ๒ ด้าน คือ

๑. ด้านที่เป็น พระธรรมวินัย โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า พุทธธรรม

๒. ด้านที่เป็น วัฒนธรรม

พระพุทธศาสนาด้านที่เป็นพระธรรมวินัย หมายถึง หลักการเดิม เนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา หรือตัวแท้จริงของพระพุทธศาสนานั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน หรือทรงแสดงและทรงบัญญัติไว้ ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และรักษาสืบทอดต่อกันมาด้วยการจารึก จดจำ และสื่อสารอ้างอิงพระคัมภีร์เหล่านั้น

พระพุทธศาสนาด้านที่เป็นวัฒนธรรม หมายถึง พระพุทธศาสนาอย่างที่คนไทยรู้ เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติสะสมสืบต่อกันมา จนซึมแทรกเข้าไปในชีวิตจิตใจ กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งลักษณะนิสัยและความเป็นอยู่ ซึ่งปรากฏออกมาทางชีวิตของหมู่ชนและอาศัยหมู่ชนที่ดำเนินตามวิถีชีวิตนั้นเป็นเครื่องรักษาสืบทอดตัวของมันเอง

พระพุทธศาสนาฝ่ายธรรมวินัย ต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียน และตั้งใจปฏิบัติ จึงจะปรากฏตัวและแสดงผลได้ แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายวัฒนธรรม ปรากฏตัวและแสดงผลอย่างเป็นไปเองในชีวิตที่ดำเนินอยู่โดยไม่ต้องรู้ตัว

พระพุทธศาสนาฝ่ายธรรมวินั และพระพุทธฝ่ายวัฒนธรรมนั้น ต่างก็สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน กล่าวคือ การที่พระพุทธศาสนาจะกลายเป็นพระพุทธศาสนาของไทย เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทย หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเป็นไทยได้ ก็เพราะได้สะสมสืบทอดซึมแทรกเข้าไปในชีวิตจิตใจของคนไทยทั่วไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมของไทย

แต่ในเวลาเดียวกัน พระพุทธศาสนาฝ่ายธรรมวินัย ก็เป็นหลักการหรือเป็นกลางหรือเป็นมาตรฐานสำหรับทบทวนตรวจสอบว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายวัฒนธรรมเข้าใกล้หรือถอยห่างออกไปจากหลักการที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา และเป็นแหล่งซึ่งอำนวยเนื้อหาสาระสำหรับปรับหรือช่วยดึงพระพุทธศาสนาฝ่ายวัฒนธรรมให้เข้าสู่หรือให้ใกล้เข้ามาสู่หลักการที่แท้จริงของพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

สรุปพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย ดังนี้

  • เป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย
  • เป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย
  • เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ชนชาวไทยตั้งอยู่ในความสามัคคี
  • เป็นหลักเกณฑ์แห่งเสรีภาพในการนับถือศาสนา
  • เป็นสถาบันที่ดำรงยืนยงมาคู่ชาติไทย
  • เป็นหลักคำสอนสอดคล้องกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่รักความเป็นอิสระเสรี
  • เป็นแหล่งสำคัญที่หล่อหลอมเอกลักษณ์ของชาติไทย
  • เป็นมรดกและเป็นคลังสมบัติอันล้ำค่าของชนชาติไทย
  • เป็นหลักนำทางในการพัฒนาชาติไทย
  • เป็นแหล่งของดีมีค่าที่ชนชาติไทยมอบให้แก่อารยธรรมของโลก

จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่พระพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นวัฒนธรรมยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองโดยรวมอีกด้วย