Course Content
กฎหมายอาญา
กฎหมายอาญา เป็นกฎหมายมหาชนซึ่งบัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิด และได้กำหนดโทษที่จะลงแก่การกระทำนั้นด้วย ความผิดอาญานี้เป็นความผิดที่ถือว่ามีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม เช่น การทำร้ายร่างกาย การลักทรัพย์ และความผิดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด กรณีการพกพาอาวุธในที่ชุมชน กฎหมายอาญาเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายแพ่ง จะเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน
0/8
กฎหมายอาญา
About Lesson

1. ความผิดต่อชีวิต คือ ความผิดที่กระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่ง มีหลายประเภท เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ได้รับโทษมากน้อยขึ้นอยู่กับการกระทำ ถ้าทำโดยเจตนา โทษก็สูงกว่าการกระทำโดยประมาทหรือถ้าทำโดยเจ้าพนักงานก็จะมีโทษหนักกว่าการฆ่าผู้อื่นโดยทั่วไป

2. ความผิดต่อร่างกาย คือ การกระทำผิดซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นเจ็บปวด โทษที่จะได้รับจะแตกต่างกันไป แล้วแต่ระดับความหนักเบาหรืออันตรายที่ผู้อื่นได้รับ

3. ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วย หรือคนชรา เช่น เด็กอายุไม่เกิน 9 ขวบต้องอาศัยความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง กฎหมายเอาผิดต่อญาติพี่น้องได้

4. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คือ ความผิดที่กระทำผิดต่อทรัพย์ของผู้อื่น ซึ่งมีด้วยกันหลายประเภท คือ

• ความผิดฐานลักทรัพย์ คือ ความผิดที่กระทำผิดต่อทรัพย์ของผู้อื่น หรือทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยไป เป็นสิทธิของตนเองโดยทุจริต

• ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คือ ความผิดฐานลักทรัพย์ โดยฉกฉวยทรัพย์ของผู้อื่นเอาไปซึ่งหน้า เช่น การคว้า จับ หยิบ หรือกระชากไปโดยเร็วต่อหน้าต่อตาเจ้าของทรัพย์

• ความผิดฐานชิงทรัพย์ คือ ความผิดฐานลักทรัพย์ โดยการใช้กำลังทำร้าย หรือขู่ว่าจะทำร้ายเจ้าของทรัพย์

• ความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ คือ  การเอาทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริตด้วยการหลอกลวงหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้เขาหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้หลอกลวง

•  ความผิดฐานยักยอก คือ ผู้รักษาดูแลหรือครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น และเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สาม

    ความผิดฐานรับของโจร คือ การช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาโดยการกระทำผิด คือ ผู้กระทำความผิดรู้ว่าเป็นของโจรก็ยังกระทำ หากไม่รู้ว่าเป็นของโจรก็จะไม่มีความผิด

• ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ คือ การกระทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเสียหาย

• ความผิดฐานบุกรุก คือ ความผิดที่ผู้กระทำผิดเข้าไปในเคหะสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุสมควรหรือเข้าไปโดยมีเหตุสมควร แต่ผู้ให้เข้าไปไล่ออกก็ไม่ยอมออกมา

4. ความผิดฐานเป็นกบฏ เช่น ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจการปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักร

5.  ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น สะสมกำลัง คนหรืออาวุธหรือเตรียมการเป็นกบฏ ยุยงทหารหรือตำรวจให้หนีราชการ หรือก่อการกำเริบ ยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน ปิดงาน งดจ้าง หรือไม่ยอมค้าขาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน หรือบังคับรัฐบาล หรือข่มขู่ประชาชน

6. ความผิดฐานวางเพลิงการลอบจุดไฟเผาอาคารบ้านเรือนหรือทรัพย์ หากเป็นอาคารสถานที่สาธารณะมีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต แม้การวางเพลิงทรัพย์สินของตนเองก็มีโทษถ้าหากการกระทำนั้นอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น

7. ความผิดฐานปลอมแปลงเงินตรา เช่น ทำธนบัตรปลอมหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม นอกจากผู้ทำปลอมจะมีความผิดแล้ว ผู้ที่นำไปใช้ทั้งที่รู้ว่าเป็นของปลอมก็มีความผิดด้วย

8. ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3- 20 ปี ถ้ามีอาวุธข่มขู่ด้วยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปีหรือตลอดชีวิต

⇒ ถ้าหญิงเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แม้เด็กหญิงนั้นจะยินยอมก็มีความผิด

⇒ ถ้าเด็กหญิงนั้นมีอายุไม่เกิน 13 ปี จะมีโทษหนักยิ่งขึ้น

⇒ นอกจากนี้การชักพาหญิงไปเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น หรือเพื่อการกระทำอนาจารก็มีความผิดรวมทั้งผู้ที่สนับสนุนด้วย

9. ความผิดฐานทำให้แท้งลูก หญิงที่ทำตนหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก มีความผิดฐานทำให้แท้งลูก และผู้ทำแท้งก็มีความผิดด้วย แม้ฝ่ายหญิงจะยินยอมก็ตามที